MOU คุณภาพเด็ก เป็นเกณฑ์วิทยฐานะกันเลยดีไหม?

หากพูดถึงความก้าวหน้า มั่นคงในชีวิตแล้วมนุษย์ทุกผู้ทุกคนก็คงมีความต้องการอยากมี อยากได้ตามหลักการของมาสโลส์ เป็นแน่ ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบราชการไม่ว่าจะเป็นประเภทหรือสาขาใด ความก้าวหน้าในอาชีพก็น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งที่ทุกคนปรารถนาด้วยเช่นกัน ซึ่งความก้าวหน้าที่ว่านี้ข้าราชการแต่ละประเภทหรือสาขาวิชาชีพก็มีระบบเพื่อสร้างโอกาสให้กับข้าราชการในสังกัดของตนเองอยู่ ซึ่งในส่วนของข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา ปัจจุบันนี้ได้ใช้ระบบวิทยฐานะ มาเป็นตัวกำหนดถึงความก้าวหน้าทั้งนี้ ด้วย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงหวังว่า ระบบวิทยฐานะ จะส่งเสริม สนับสนุนให้ข้าราชการครูสามารถก้าวหน้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอตำแหน่งที่สูงขึ้นมารองรับ และที่สำคัญ เพื่อจะให้ได้รับค่าตอบแทน สมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูงอะไรทำนองนั้น ซึ่งจากหลักการนี้ จึงดูเหมือนว่าข้าราชการครูน่าจะได้เปรียบมากกว่าข้าราชการประเภทอื่นทั้งด้านตำแหน่งและค่าตอบแทน

แต่พอเข้าสู่ภาคปฏิบัติแล้ว แม้ว่าหลักเกณฑ์ในการขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ ของข้าราชการครูนั้นดูเหมือนจะเปิดโอกาส ให้ครูเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ความเป็นจริงกับโอกาสที่จะเป็นไปได้นั้นแสนสุดจะยากยิ่ง ทั้งนี้ก็ด้วยเกณฑ์คุณภาพของงานที่จะแลกกับความก้าวหน้าของครูนั้นยังยึดแน่นอยู่กับผลงานวิชาการเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลงานวิชาการที่ว่านี้แม้หลายฝ่ายจะบอกว่าสำคัญ ด้วยจะเป็นการกระตุ้นให้ครูได้พัฒนาด้านความรู้และกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิ ภาพมากยิ่งขึ้นก็ตาม

แต่ส่วนที่ว่านี้กลับกลายเป็นข้อจำกัดของครูส่วนใหญ่กับโอกาสที่จะได้รับ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะครูส่วนใหญ่ไม่ได้จบมาทางด้านการทำผลงาน วิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย การประเมินโครงการ หรืองานวิชาการอื่น ๆ โดยตรง รวมถึงการที่มีภารกิจมากมายทำให้ไม่มีเวลา รวมถึงบริบทพื้นที่การปฏิบัติงานที่ห่างไกล ทำให้ไม่สามารถไปศึกษา ค้นคว้าหาตำราด้านวิชาการต่าง ๆ มาสนับสนุนกับผลงานได้ โดยเฉพาะภาระหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนให้กับเด็กในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ค่อยสอดคล้องกับการที่จะไปสร้างผลงานวิชาการให้เกิดคุณภาพ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือเป็นไปตามมาตรฐานที่กรรมการประเมินแต่ละคนหรือแต่ละชุดได้ ภาพรวมที่เกิดขึ้นผลงานของครูส่วนใหญ่จึงไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทำให้แทนที่วิทยฐานะจะเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจเพื่อให้ครูเกิดขวัญ กำลังใจกับการทำงาน มากยิ่งขึ้นกลับกลายเป็นยาขมหม้อใหญ่ที่ไปกัดกร่อนบั่นทอนจิตใจและอุดมการณ์ของครูจำนวนไม่น้อยให้ลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนนี้คงไม่ต้องบอกว่าได้ส่งผลกระทบไปถึงใครบ้างโดยเฉพาะคุณภาพการศึกษาที่ต้องการเห็น

ผลที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหลายคงจะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะคงจะต้องหันกลับมา ทบทวนถึงแนวทางการให้วิทยฐานะกับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านมาว่า เป็นแนวทางที่ได้ช่วยพัฒนาครู พัฒนาคุณภาพเด็ก และสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หากปล่อยให้สิ่งที่ครูคาดหวังกับความก้าวหน้าในอาชีพกลับกลายเป็นสิ่งที่คอยกัดกร่อนจิตใจให้อ่อนล้ากับชีวิตราชการไปอยู่เช่นนี้ ก็คงจะเกิดผลกระทบตามมาอย่างมากมายเป็นแน่

ซึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวตอนนี้ก็พอมีข่าวดีเกิดขึ้นบ้าง กับการที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้บอกว่า การขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะครูต่อไปนี้จะให้ใช้ผลงาน คุณภาพงานของครูเป็น หลัก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ครูที่มีผลงานจนได้รับการคัดเลือกเป็นครูดีเด่นทั้งหลายได้เลื่อนวิทยฐานะได้เลยนั้น ถือว่าเป็นแนวทางที่จะสามารถตอบแทนกับความดีของครูที่ได้ทุ่มเทการทำงานจนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับ ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นครูดีเด่น ให้ได้ชื่นใจกับความดีงามที่ทำมาบ้าง แม้ส่วนนี้จะเกิดขึ้นกับครูเพียงบางส่วนหรือจำนวนไม่มากนักก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ตรงกับบริบทการปฏิบัติงานของครู แทนที่จะต้องไปเสียเวลาสอนเด็กปวดหัวอยู่กับการทำผลงานวิชาการ เช่นแต่เดิมมา และก็หวังว่าแนวทางที่ตรงกับภารกิจของครูลักษณะ เช่นนี้จะเกิดขึ้นตามมาได้อีก

ซึ่งแนวทางการประเมินวิทยฐานะครู เพื่อให้ตรงกับบริบทการปฏิบัติงานของครูนั้น ผู้เขียนเองก็เคยได้นำเสนอไปครั้งหนึ่งแล้ว ว่าควรใช้เกณฑ์ที่สอดคล้องกับลักษณะงานของครูในแต่ละพื้นที่ที่มีความยากง่ายรวมถึงองค์ประกอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานแตกต่างกันออกไป การที่จะมาใช้เกณฑ์เดียวอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้คงไม่ถูกต้องมากนัก ซึ่งเกณฑ์ที่เคยนำเสนอนั้น ประกอบด้วย เกณฑ์สำหรับครูดีเด่นทั้งหลาย ควรที่จะให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้เลย เกณฑ์ที่ 2 สำหรับครูที่มีอายุการทำงานเกิน 25 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการทำงานมากพอกับการที่จะได้รับโอกาสเลื่อนวิทยฐานะ เพียงขอให้เติมเชื้อเพลิงให้หน่อยไฟแห่งการทำงานก็น่าจะลุกโชติช่วงได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง เกณฑ์ที่ 3 สำหรับกลุ่มครูที่ทำงานในพื้นที่กันดาร ยุ่งยาก เสี่ยงภัย ทั้งหลายซึ่งครูกลุ่มนี้หากต้องมาใช้เกณฑ์เดียวกับครูในพื้นที่ปกติ หรือครูในเมืองที่มีความพร้อมทุกด้านคงไม่เป็นธรรมเป็นแน่ จึงควรมีเกณฑ์เฉพาะให้ และเกณฑ์สุดท้าย สำหรับครูที่คุณสมบัติไม่อยู่ใน 3 กลุ่มแรก ก็สามารถใช้เกณฑ์ปกติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ได้เลยซึ่งก็ไม่ได้เสียสิทธิอะไรแต่อย่างใด ซึ่งเกณฑ์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ก็เพิ่งได้รับการ ตอบรับเพียงวิธีการเดียวตามที่ได้กล่าวมา ซึ่งก็ยังทำให้ฝนตกไม่ทั่วฟ้าอยู่ดี

นอกจากเกณฑ์ที่ว่ามาทั้งหมดแล้วหากคิดว่ายังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพเด็กมากนัก ก็อยากจะขอเสนออีกสักวิธีการหนึ่ง ด้วยเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทาง ที่ส่งผลถึงคุณภาพเด็กและขวัญกำลังใจของครูได้อย่างเป็น รูปธรรม คือ การให้ครูทำพันธสัญญาด้านคุณภาพเด็กให้สูงขึ้นโดยการให้ครูที่สนใจอยากจะมีหรือเลื่อนวิทยฐานะทำ MOU กับหน่วยงานต้นสังกัด ว่าจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาในวิชาหรือทักษะที่รับผิดชอบอยู่โดยมีเงื่อนไขว่าผลสัมฤทธิ์หรือคุณภาพการศึกษาของเด็กต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ หรือตามที่ทาง ก.ค.ศ. จะกำหนดที่จะสามารถ ปฏิบัติได้ ตามเวลาที่ครูแต่ละคนคิดว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้

เมื่อครบเวลาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการไปประเมิน หากคุณภาพนักเรียนเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามพันธสัญญาก็ให้ได้ทั้งวิทยฐานะ เงินค่าวิทยฐานะและเงินค่าตอบแทนย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญา แต่จะต้องถูกประเมินคุณภาพทุกปีเพื่อคงสภาพ อย่างน้อย 3 ปี หากสามารถคงสภาพด้านคุณภาพเด็กไว้ได้ครบเวลาที่กำหนดก็จะถือว่าได้วิทยฐานะนั้นถาวรและสามารถที่จะขอทำพันธสัญญาเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้นต่อไปได้ แต่ถ้าหากคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ก็ต้องมาเริ่มต้นทำพันธสัญญากันใหม่ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดเช่นนี้คิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์กับเด็กด้านคุณภาพที่จะเกิดขึ้นและเป็นธรรมกับครูที่สิ่งที่จะประเมินเป็นภารกิจที่ต้องทำเป็นปกติอยู่แล้วนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดลักษณะเช่นนี้ก็อาจมีผู้ออกมาต่อต้านติติงว่า การคิดนั้นเป็นเรื่องง่ายแต่ทำจริงนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเกรงว่าจะมีปัญหา ความยุ่งยากในการดำเนินการ ตามมามากมายทั้ง ความเป็นธรรม เป็นกลางในการประเมิน ความเป็นมาตรฐานของกรรมการ การช่วยเหลือกัน รวมไปถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการและจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับครู อะไรทำนองนั้น ซึ่งปัญหาที่ว่านี้เมื่อมีการดำเนินการจริงก็คงมีเกิดขึ้นแน่ แต่ในทำนองเดียวกันหากลองย้อนกลับไปดูถึงวิธีการดำเนินงานตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ใช้กันมาต่างก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน แถมเกณฑ์ที่ใช้กันผ่านมาส่วนใหญ่จะไปยึดติดอยู่กับผลงานวิชาการ ซึ่งส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปผลออกมาอย่างชัดเจนได้ว่า ผลงานวิชา การที่ครูทำขึ้นมาจนได้รับการเลื่อนวิทยฐานะนั้น ได้ช่วยให้ครูพัฒนาการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเด็กมีคุณภาพการศึกษาดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน

ดังนั้นการดำเนินงานทุกวิธีการย่อมมีอุปสรรค ปัญหา เป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องเกินวิสัยที่จะแก้ได้หากจะทำกันจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณที่จะเป็นค่าวิทย ฐานะให้กับครูนั้น ตอนนี้พอมองดูงบประมาณที่นำมาใช้พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละปี โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2553-2554 ก็ทราบว่ามีเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท ซึ่งถามว่าเงินทั้งหมดนี้หากนำไปใช้พัฒนาครูด้วยการให้ครูไปประชุม สัมมนา อบรมตามสถานที่ต่าง ๆ เงินก็จะหมดไปกับค่าสถานที่ ค่าอาหาร ค่าจัดพิมพ์ตำรา เอกสาร ค่าจัดทำกระเป๋า ฯลฯ แทนที่เงินเหล่านั้นจะตกถึงมือผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจได้บ้าง ดังนั้นเรื่องงบประมาณจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ตอนนี้ก็เหลือเพียงว่าเป้าหมายที่แท้จริงกับการพัฒนาครู พัฒนาเด็ก กับการให้วิทยฐานะครูนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่เท่านั้นเอง หากตอบความจริงตรงนี้ได้ ทุกอย่างก็จบ ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น