ผมมีความข้องใจสงสัยเหลือเกินกับข่าวที่เพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่องพระครูอุดมปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล และเจ้าคณะอำเภอหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ตกเป็นเหยื่อของแก๊งต้มตุ๋นซื้อขายสมณศักดิ์ โอนเงินเข้าบัญชีของพระมหาปรีชา สิริจันโท ซึ่งอ้างว่าอยู่วัดบวรฯ (ซึ่งตามข่าววัดบวรฯ ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีพระรูปนี้ในวัด) ผู้ต้มตุ๋นไป ๒๐๐,๐๐๐ บาท และยังมีพระผู้ใหญ่ในภาคอีสานอีกหลายรูป ตกเป็นเหยื่อแก๊งดังกล่าวโอนเงินเข้าบัญชีไปเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือ มีพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม คือ พระธรรมสิทธิเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ออกมาให้ข่าวว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความผิดพระธรรมวินัย เพราะในพระธรรมวินัยไม่มีกำหนดห้ามพฤติกรรมลักษณะนี้ เพียงแต่มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่พระสงฆ์จะทำเท่านั้น (ข่าวจาก คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗)
         ที่ข้องใจสงสัยในประการแรก ก็คือ มันไปตรงกับข้อสันนิษฐานของผมในอดีต เพราะในอดีตเมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสไปจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ได้ทราบเรื่องว่ามีพระเถระรูปหนึ่งในจังหวัดนั้นได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ไม่มีชาวบ้าน หรือใครเลยที่จะไปรับพัดยศกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมไปถึงครูใหญ่ในโรงเรียนของวัด และจากการได้มีโอกาสไปพูดคุยกับบุคคลเหล่านั้นถึงได้ทราบว่า ชาวบ้านเหล่านั้นไม่ทราบว่าหลวงพ่อได้รับสมณศักดิ์เข้าไปได้อย่างไร ในหลวงทรงพระราชทานให้ได้อย่างไร เพราะเจ้าอาวาสวัน ๆ ไม่ทำอะไรเลย มีแต่กินกับนอนเท่านั้น เป็นที่เบื่อหน่ายของชาวบ้านอย่างมาก จึงพร้อมใจกันไม่ให้ความสนใจ จากวันนั้นมาถึงวันนี้ พอได้ยินเรื่องมีการซื้อขายสมณศักดิ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เลยมีความรู้สึกว่าผมรู้ถึงสาเหตุแล้วว่าหลวงพ่อรูปนั้นได้สมณศักดิ์มาได้อย่างไร

นักเรียน"ป.2-ป.5,ม.2" ต้องปรับปรุงอื้อ เด็กไม่ผ่านประเมินเพียบ วิชาภาษาไทย-คณิต

       คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้เข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองจะไม่เน้นการให้การศึกษาเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงเยาวชนที่ตกหล่นในระบบการศึกษา เด็กที่อยู่นอกโรงเรียน แรงงานนอกระบบ ซึ่งทุกภาคส่วนพยายามเสนอช่องทางที่จะให้การศึกษาแก่คนเหล่านี้ โดยเฉพาะการให้การศึกษากับพ่อแม่ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะปูพื้นฐานของการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ที่ต้องได้รับการอบรมดูแลอย่างดีและต่อเนื่อง อีกทั้งการพัฒนาระบบและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ต้องพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบ และตามอัธยาศัย ทั้งนี้ จะมีการทดลองนำแนวคิดที่มีความหลากหลายจากคณะทำงานลงไปปฏิบัติจริงใน 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุดรธานี นครสวรรค์ และนครศรีธรรมราช โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน

MOU คุณภาพเด็ก เป็นเกณฑ์วิทยฐานะกันเลยดีไหม?

หากพูดถึงความก้าวหน้า มั่นคงในชีวิตแล้วมนุษย์ทุกผู้ทุกคนก็คงมีความต้องการอยากมี อยากได้ตามหลักการของมาสโลส์ เป็นแน่ ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบราชการไม่ว่าจะเป็นประเภทหรือสาขาใด ความก้าวหน้าในอาชีพก็น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งที่ทุกคนปรารถนาด้วยเช่นกัน ซึ่งความก้าวหน้าที่ว่านี้ข้าราชการแต่ละประเภทหรือสาขาวิชาชีพก็มีระบบเพื่อสร้างโอกาสให้กับข้าราชการในสังกัดของตนเองอยู่ ซึ่งในส่วนของข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา ปัจจุบันนี้ได้ใช้ระบบวิทยฐานะ มาเป็นตัวกำหนดถึงความก้าวหน้าทั้งนี้ ด้วย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงหวังว่า ระบบวิทยฐานะ จะส่งเสริม สนับสนุนให้ข้าราชการครูสามารถก้าวหน้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอตำแหน่งที่สูงขึ้นมารองรับ และที่สำคัญ เพื่อจะให้ได้รับค่าตอบแทน สมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูงอะไรทำนองนั้น ซึ่งจากหลักการนี้ จึงดูเหมือนว่าข้าราชการครูน่าจะได้เปรียบมากกว่าข้าราชการประเภทอื่นทั้งด้านตำแหน่งและค่าตอบแทน